บทความนี้เราจะมาบอก 4 เหตุผลที่ ซิลเวอร์ทำไมถึงน่าลงทุน ภาพรวมของโอกาสและความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะเชื่อคำแนะนำของนักลงทุนระดับโลกเหล่านั้นหรือไม่ ดังนี้กันค่ะ
การลงทุนในโลหะเงินแท่ง (แบบทองคำแท่ง) เพื่อซื้อเก็บในระยะยาว อาจไม่ได้รับความนิยมมากนักในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการเก็งกำไรด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Silver Online Futures) ในตลาด TFEX เท่านั้น
แต่คุณรู้ไหมคะว่าในมุมมองของนักลงทุนระดับโลกหลาย ๆ คนนั้นไม่ได้มองว่าโลหะเงินด้อยไปกว่าทองคำเลย เนื่องจากพวกเขาเชื่อมั่นว่าโลหะทั้ง 2 ชนิดเป็น “เงินที่แท้จริง” เพราะนอกจากทองคำแล้ว โลหะเงินก็ถูกนำมาใช้เป็นเหรียญในสกุลเงินต่าง ๆ มานับพันปี ด้วยคุณสมบัติที่แข็งแรงทนทานของเงิน (Silver) ที่แม้เมื่อใช้งานไปนาน ๆ แล้วโลหะเงินจะมีสีหมองคล้ำลงจากปฏิกิริยาเคมี แต่ปฏิกิริยานั้นจะเกิดขึ้นเฉพาะที่ผิวเท่านั้น ไม่ได้ทำให้สมบัติต่าง ๆ ของเนื้อเงินเปลี่ยนไปต่างจากโลหะชนิดอื่น ๆ ที่มักจะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ด้วยความทนทานนี้จึงทำให้โลหะเงินเป็นเครื่องมือในการรักษามูลค่าเอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม ไม่แพ้ทองคำ
1. “ต้นทุนการผลิตโลหะเงิน” ของแต่ละเหมืองนั้นมีความแตกต่างกันมาก เพราะโลหะเงินนั้นเป็นผลผลิตพลอยได้จากการผลิตโลหะชนิดอื่น เนื่องจากในธรรมชาตินั้นแร่เงินมักจะอยู่ร่วมกับแร่อื่น ๆ เช่น ทองคำหรือตะกั่ว
แต่โดยเฉลี่ยแล้วต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 11$/Oz. (ข้อมูลเมื่อปี 60) ซึ่งต่ำกว่าราคาในปัจจุบันถึง 56%
ทว่าหากความต้องการของแร่เงินสูงขึ้นก็จะดันต้นทุนสูงขึ้นได้ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้กำลังการผลิตจากเหมืองที่มีต้นทุนสูงกว่า (เหมือนกับน้ำมันที่แท่นขุดเจาะในสหรัฐมีต้นทุนสูงกว่าแท่นในซาอุฯ แต่ด้วยความต้องการการใช้งานที่สูงทำให้กำลังการผลิตของซาอุฯไม่เพียงพอ)
2. “Gold/Silver Ratio” เป็นอัตราส่วนที่ใช้บ่งบอกว่าในเวลานั้นทองคำมีราคาแพงมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับโลหะเงิน ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 75/1 (หมายถึงทองแพงกว่าเงินอยู่ 75 เท่า) แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าอัตราส่วน Gold/Silver นั้นควรจะเป็นเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามถ้าย้อนไปเมื่อ 800 ปีที่แล้ว ในสมัยโรมันนั้นอัตราส่วนนี้
จะอยู่ที่ประมาณ 12/1 เท่านั้นแต่ปัจจัยสำคัญที่ดันให้อัตราส่วนนี้สูงขึ้นคือการประกาศใช้ Gold Standard ซึ่งส่งผลให้ทองคำมีบทบาทในแวดวงการเงินมากกว่าโลหะเงินเมื่อเทียบกับอดีต โดยจะสังเกตได้ว่าในช่วงที่เกิดวิกฤติต่าง ๆ อัตราส่วนนี้มักจะสูงขึ้นอยู่เสมอ เพราะผู้คนจะเลือกเก็บวิ่งเข้าหาทองคำมากกว่าโลหะเงิน อย่างการแพนิคในช่วงเมษาที่ผ่านมานั้นอัตราส่วนนี้ได้วิ่งขึ้นไปถึง 114/1 เลยทีเดียว และนับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมาอัตราส่วนนี้ก็ไม่เคยต่ำกว่า 30/1 อีกเลย จึงแสดงให้เห็นว่าความต้องการของการเก็บโลหะเงินเพื่อรักษาความมั่งคั่งนั้นลดลงไปมาก
3. “โลหะเงินมีความผันผวน (volatility) มากกว่าทองคำ” หมายความว่าเวลาเงินขึ้นก็จะขึ้นแรงกว่าทอง แต่เวลาลงก็ลงได้มากกว่าทองคำ ซึ่งเป็นข้อดีสำหรับนักลงทุนระยะสั้นที่คุณมีโอกาสที่จะทำกำไรได้มากกว่า แต่สำหรับการลงทุนระยะยาวแล้ว store of value (ตัวเก็บมูลค่า) นั้นไม่ควรผันผวนมากจนเกินไป
4. “การใช้งานในอุตสาหกรรม” เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะโลหะเงินมีสมบัติต่าง ๆ ที่โดดเด่น โดยเฉพาะการเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดีที่สุด, เป็นตัวสะท้อนแสงอันดับต้น ๆ, แข็งแรง, ทนการกัดกร่อน, ขึ้นรูปได้ง่าย, ป้องกันแบคทีเรีย ฯลฯ
สรุปแล้วโลหะเงินนั้นมีความน่าสนใจในแง่ของการป้องกันเงินเฟ้อ เพราะราคายังถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับอดีต (ตามความเห็นของจิม โรเจอร์ส) อีกทั้งเงินยังเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่อยู่ในเทรนด์อนาคตจึงอาจทำให้ความต้องการโลหะเงินสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันราคาเงินให้สูงขึ้น
แล้วในมุมมองของเพื่อน ๆ เงิน #Silver มีความน่าสนใจมากแค่ไหนเพราะอะไร?