หมู่บ้านทำเครื่องเงินบ้านเขวาสินรินทร์ บ้านโชค บ้านสะดอ ตั้งอยู่ที่ กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ ห่างจาก จังหวัด ประมาณ 18 กิโลเมตร ทั้ง 3 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้าน ที่มีการผลิตลูกประคำเงิน (ลูกประเกือม) นำไปทำเป็นเครื่อง ประดับสุภาพสตรี เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ตุ้มหู เข็มขัด มีเพียงแห่งเดียว ในประเทศไทย มีการทำสืบทอดกันมาหลายร้อยปี โดยผู้นำมาเป็นชาวเขมร ที่อพยพมาจาก ประเทศกัมพูชา มาอยู่ที่หมู่บ้าน

คำว่าประเกือม เป็นภาษาเขมร ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาไทยว่า ประคำ ใช้เรียกเม็ดเงิน เม็ดทองชนิดกลม ที่นำมาร้อยเป็นเครื่องประดับ ประเกือม สุรินทร์ เป็นลูกกลมทำด้วยเงิน เช่นเดียวกับที่อื่นๆ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ มีหลากหลายรูปแบบและลวดลาย เนื่องจากทำด้วยแผ่นเงินบางๆ ที่ตีเป็นรูปต่างๆ พร้อมกับอัดครั่งไว้ภายใน ทำให้สามารถแกะลายได้สะดวก ประเกือมมีตั้งแต่ขนาดเล็กที่สุดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเซ็นติเมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่ประมาณ 2.5 – 3 เซ็นตเมตร มีหลายลวดลาย ได้แก่ ถุงเงิน หมอน แปดเหลี่ยม หกเหลี่ยม กรวแมงดา กระดุม โอ่ง มะเฟือง ตะโพน ฟักทอง จารย์(ตะกรุด)
ความเป็นมาของเครื่องประดับเงินเขวาสินรินทร์
จากการที่จังหวัดสุรินทร์ มีพรมแดนติดกับประเทศกัมพูชา จึงทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีและรูปแบบศิลปวัฒนธรรมจากกัมพูชาถูกส่งผ่านมายังดินแดนแห่งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 270 ปีเศษ (ราว พ.ศ. 2262) เมื่อครั้งที่ราษฎรกัมพูชาได้รับความเดือดร้อนจากภัยสงคราม จนต้องอพยพเข้ามายังผืนแผ่นดินไทย และตั้งรกรากอยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภอเขวาสินรินทร์ ซึ่งผู้อพยพกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นเพียงชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั่วไป หากแต่มีวิชาความรู้ในการตีทองรูปพรรณและทำเครื่องประดับติดตัวมาด้วย มีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นสืบมาจนกระทั่งถึงช่วงประมาณ พ.ศ. 2521 เมื่อทองรูปพรรณมีราคาแพงจนไม่เป็นที่นิยมในท้องถิ่นช่างเหล่านี้จึงเปลี่ยนจากการทำทองมาเป็นเครื่องเงินโบราณแทน
เพราะมีราคาถูกกว่าค่อนข้างมาก
การทำเครื่องเงินโบราณเขวาสินรินทร์จัดเป็นงานหัตกรรมที่มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ และถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนในท้องถิ่น เครื่องเงินที่ผลิตนอกจากจะมีลวดลายที่สวยงาม และมีความประณีตแล้ว สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องเงินโบราณเขวาสินรินทร์ก็คือ “ลูกประเกือม” ซึ่งบริเวณบ้านโชค ตำบลเขวาสินรินทร์ ถือเป็นหมู่บ้านแห่งแรกที่มีการทำลูกประเกือมจนมีชื่อเสียง และต่อมาเมื่อความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น การผลิตจึงขยายตัวไปทั่วทั้งตำบล
ปัจจุบันพบว่าตำบลเขวาสินรินทร์นั้นเป็นพื้นที่แห่งเดียวในโลกที่มีการผลิตลูกประเกือม มรดกทางภูมิปัญญาดังกล่าวนี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การส่งเสริมและอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่สืบไป
เอกลักษณ์ของเครื่องเงินโบราณเขวาสินรินทร์
การผลิตเครื่องเงินโบราณเขวาสินรินทร์มักจะชูเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นออกมาในลักษณะที่มี “ลูกประเกือม” เป็นส่วนประกอบ โดยประเกือมได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมมาจากกัมพูชา โดยมีลักษณะเป็นเม็ดกลมคล้าย “ลูกประคำ”
ของไทย เพียงแต่ลูกประเกือมมักทำมาจากเม็ดเงิน มีรูปทรงกลม และมีหลายขนาด ในการผลิตเครื่องประดับเงินมักจะนิยมนำประเกือมมาร้อยเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับ อาทิ สร้อยคอ ความโดดเด่นของประเกือมถูกนำเสนอผ่านลวดลายต่างๆ ที่แกะสลักอยู่โดยรอบเม็ด อาทิ ลายถุงเงิน หมอน หกเหลี่ยม กรวย กระดุม ตะโพน ดอกบัว ตาราง และดอกพิกุลซึ่งการแกะสลักลูกประเกือม ถือเป็นภูมิปัญญาที่ผ่านการคิดค้นกรรมวิธีนำเอาแผ่นเงินบางๆ มาตีเป็นรูปต่างๆ พร้อมกับอัดครั่งไว้ภายในเพื่อทำให้สามารถแกะลายได้สะดวกตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันได้มีการนำเอาประเกือมมาทำเป็นเครื่องประดับของสุภาพสตรี อาทิ กำไลข้อมือ สร้อยประคำ ต่างหู แหวน และเพิ่มความหลากหลายด้วยการผสมกับวัสดุชนิดอื่น
อาทิ มุก นิล ลูกปัดหิน จนกลายเป็นสินค้าหลักของเขวาสินรินทร์ โดยเอกลักษณ์อันโดดเด่นและความสวยงามของประเกือมนอกเหนือไปจากลวดลายอันงดงามและประณีตแล้ว ประเกือมส่วนใหญ่จะมีการรมดำเพื่อขับให้ลวดลายมีความเด่นชัดเพิ่มขึ้น และทำให้สังเกตเห็นความเงาวาวของเนื้อโลหะเงินได้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย
ที่มา : https://sites.google.com/site/surin616512/haelng-reiyn-ru/hmu-ban-kheruxng-ngein-khe-wasin-ri-nthr