รู้หรือไม่? พระเครื่องมีเนื้ออะไรบ้าง ต่างกันอย่างไร

วันนี้เรามีคำตอบมาให้คุณ

พระเครื่องในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีการสร้างไว้มากมายหลายรูปแบบ เราไม่ทราบถึงจุดเริ่มต้นที่แน่นอนของการสร้างขึ้นมา นอกจากการคาดเดาหรือหลักฐานทางโบราณคดีที่เจอ ซึ่งหัวใจสำคัญอีกอย่างในการสร้างพระเครื่องนั่นก็คือ “มวลสาร” วันนี้เราจะมาอธิบายถึงเรื่องมวลสารพระเครื่อง โดยจำแนกลักษณะวัตถุดิบที่นำมาจัดสร้าง ซึ่งจะแบ่งได้ 5 ประเภทหลักๆ ดังนี้ค่ะ

.

1.พระเครื่องเนื้อดิน

พระเครื่องเนื้อดินเป็นพระเครื่องที่มีอายุการสร้างเก่าแก่ที่สุด โดยการนำดินอันเป็นวัสดุหาง่าย คงทน สร้างสรรค์ปฏิมากรรมได้สะดวก ซึ่งดินที่นำมาสร้างพระเครื่องล้วนเป็นดินที่นำมาจากศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์หรือสถานที่เป็นมงคล มีการทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นมงคลแก่พระเครื่องที่สร้าง ในการสร้างจะนำมวลสารต่างๆ มาผสมคลุกเคล้ากัน โดยมีดินเป็นมวลสารหลักในการยึดประสานมวลสารต่างๆ ให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงนำส่วนผสมไปกดลงในแม่พิมพ์ที่แกะเค้าโครงรูปร่างของพระเครื่องที่ต้องการ เมื่อนำพระออกจากพิมพ์แล้ว จึงนำพระมาผ่านกรรมวิธีทำให้แห้ง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท 1. พระที่ผ่านการเผา เป็นการสลายความชื้นและคงรูปวัตถุ ทำให้เกิดมวลสารของพระเครื่องเป็นแบบดินสุกหรือดินสีหม้อใหม่ เช่นเดียวกับการทำภาชนะเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ นอกจากนี้ยังพบว่า พระเครื่องที่ผ่านการเผามี 2 ลักษณะคือ

  • พระที่ผ่านการเผาเป็นเวลานาน ในอุณหภูมิความร้อนที่สูงจนครบขั้นตอน ได้แก่ พระรอด พระนางพญา พระกรุทุ่งเศรษฐี พระหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นต้น

  • พระที่ผ่านการเผาพอประมาณ ใช้เวลาในการเผาไหม้ไม่นานนัก หรือผ่านการอบให้แห้ง โดยมวลสารคายความชื้นออก เพื่อความยึดติดเข้ารูป เป็นเหตุให้พระออกมามีหลายสี แต่คงไว้ซึ่งมวลสารส่วนผสมปรากฏเห็นชัดเจนกว่าพระที่ผ่านการเผาครบขบวนการทำให้มวลสารบางชนิดถูกเผาไหม้ไป ได้แก่ พระผงสุพรรณ พระซุ้มกอดำ เป็นต้น

2. พระที่ผ่านการตากแดด พระประเภทนี้เรียกว่า “พระดินดิบ” หมายถึงมวลสารถูกแยกน้ำออกด้วยวิธีการตากแดดให้แห้ง ความแข็งแกร่งคงทนจะน้อยกว่าพระที่ผ่านการเผา ดินจะสามารถละลายตัวหากนำมาแช่น้ำทิ้งไว้ พระเนื้อดินดิบ ได้แก่ พระเครื่องศิลปะศรีวิชัยที่พบทางใต้ เช่น พระเม็ดกระดุม เป็นต้น

.

2.พระเครื่องเนื้อชิน

พระเครื่องที่มีอายุการสร้างเก่าแก่นับร้อยปี ส่วนใหญ่พระเครื่องเนื้อชินจะถูกบรรจุกรุไว้ในที่ต่างๆและพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งมีพุทธศิลป์ที่หลากหลายต่างกันไป เนื้อชินที่นำมาสร้างพระเครื่องเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติพิเศษโดยการผสมโลหะ 2 ชนิดเข้าด้วยกัน คือดีบุกและตะกั่ว พระเครื่องเนื้อชินที่พบเห็นส่วนใหญ่จะแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • พระเนื้อชินเงิน คือ พระที่มีส่วนผสมของดีบุกมากกว่าตะกั่ว พระที่พบจะมีสีเงินยวงจับองค์พระอย่างงดงาม พระเนื้อชินเงินนี้จะปรากฏลักษณะตามธรรมชาติในรูปของเกล็ดกระดี่ และสนิมตีนกา ตามองค์พระ เช่น พระหูยาน ลพบุรี, พระนาคปรก กรุวัดปืน ลพบุรี เป็นต้น

  • พระเนื้อชินสนิมแดง คือ พระที่มีส่วนผสมของตะกั่วมาก พระที่พบจะมีลักษณะคล้ายพระชินเงิน แต่มีสนิมไขแซมตามซอกพระ เช่น พระมเหศวร, พระสุพรรณหลังผาน, พระลีลากำแพงขาว เป็นต้น

  • พระเนื้อสนิมแดงตะกั่ว ถือเป็นพระเครื่องประเภทเนื้อชิน ที่มีส่วนผสมของตะกั่วมากที่สุดถึง 90% พระเครื่องที่พบจึงมีสีแดงของสนิมตะกั่วจับอยู่ในเนื้อพระเป็นสีแดง ที่เรียกว่า “แดงลูกหว้า” ตัวอย่างเช่น พระร่วงหลังลายผ้า, พระร่วงหลังรางปืน พระท่ากระดาน และพระร่วงพิมพ์ต่างๆ เป็นต้น

กรรมวิธีการสร้างพระเนื้อชิน ถือเป็นการหลอมเหลวรวมแร่ธาตุสำคัญดังที่กล่าวข้างต้น ข้อสำคัญคือการแกะแม่พิมพ์ให้งดงาม อลังการ ตามจินตนาการของช่าง ส่งผลให้พระเนื้อชิน ถือเป็น “อมตะพระเครื่องยอดนิยมตลอดกาล”

.

3. พระเครื่องเนื้อผง

เป็นพระเครื่องที่มีอายุอานามในการสร้างมากเช่นเดียวกัน โดยการผสมมวลสารต่างๆเข้าด้วยกัน ซึ่งมวลสารที่นำมาสร้างก็มีส่วนผสมด้วยกันมากมายหลายชนิด แล้วแต่สูตรของพระเกจิคณาจารย์แต่ละท่านที่สร้างพระเครื่อง มวลสารที่นำมาสร้างพระเครื่องเนื้อผงก็แล้วแต่วัตถุดิบที่หาได้ในยุคสมัยนั้นๆ

.

4. พระเครื่องเนื้อโลหะ

เป็นพระเครื่องที่สร้างจากเนื้อชนวนโลหะต่างๆ พระเครื่องเนื้อโลหะที่พบส่วนใหญ่มีด้วยกัน 4 เนื้อ ได้แก่

  • เนื้อทองคำ สร้างจากทองคำ

  • เนื้อเงิน สร้างจากเงิน

  • เนื้อทองแดง สร้างจากทองแดง

  • เนื้อโลหะผสม มีด้วยกันหลายชนิด อาทิ

เนื้อนวโลหะ ได้จากการนำแร่ธาตุ 9 ชนิด มาหลอมรวมกัน ได้แก่ ชิน จ้าวน้ำเงิน เหล็กละลายตัว ทองแดงบริสุทธิ์ ปรอท สังกะสี ทองแดง เงิน และทองคำ

เนื้อสัตตะโลหะ ได้จากการนำโลหะ 7 ชนิด มาหลอมรวมกัน ได้แก่ เหล็ก ปรอท ทองแดง เงิน ทองคำ จ้าวน้ำเงิน และทองแดงบริสุทธิ์

เนื้อเบญจโลหะ ได้มาจากการนำโลหะ 5 ชนิด มาหลอมรวมกัน ได้แก่ เหล็ก ปรอท ทองแดง เงิน และทองคำ

เนื้อทองเหลือง เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับสังกะสี หรืออาจมีธาตุอย่างอื่นปะปนอยู่เล็กน้อย

เนื้อบรอนซ์ เป็นโลหะผสมระหว่างดีบุกกับทองแดงหรือโลหะอื่นๆ ยกเว้นทองแดงผสมสังกะเพราะจะเป็นเนื้อทองเหลือง

เนื้อเมฆพัด เป็นการนำเนื้อโลหะหลายชนิดมาหลอมรวมกัน ได้แก่ เหล็ก ทองแดง ดีบุกตะกั่ว เงิน ทองคำ และกำมะถัน หลอมออกเป็นสีเหลือบน้ำเงินมันวาว เนื้อเมฆสิทธิ์ เป็นการนำแร่ 4 ชนิด มาหลอมรวมกันได้แก่ สังกะสี เงิน ทองแดง และปรอทโดยเนื้อเมฆสิทธิ์ และเมฆกะพัด นับเป็นโลหะศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นการเล่นแร่แปรธาตุ ขณะหลอมโลหะมีการบริกรรมคาถาต่างๆกำกับ เนื้อสำริด เป็นโลหะผสมยุคแรกๆตั้งแต่สมัยโบราณ โดยนำโลหะมาหลอมรวมกันได้แก่ทองแดง ดีบุก เงิน และทองคำ เนื้อขันลงหิน เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก

.

5. พระเครื่องเนื้อว่าน

นอกจากที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น ยังมีพระเครื่องที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งนั่นคือ พระเนื้อว่าน เป็นพระเครื่องที่มีส่วนของ “ว่าน” เป็นเนื้อมวลสารหลัก แต่ก็จะมีดินหรือผงเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย อย่างเช่น พระหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด, พระเนื้อว่านจำปาสัก เป็นต้น

📍สนใจสอบถามราคาเนื้อเงินติดต่อ
🔘Tel : 02-720-3000
🔘Line@ : @bowins
🔘Facebook : Bowins Silver

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *